วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

โรคเบาหวาน...ไม่หวานอย่างที่คิด


โรคเบาหวาน เป็นโรคที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักกันพอควร แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ ความสำคัญของการรักษาโรคนี้นัก แพทย์เองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรักษา ผู้ป่วยเบาหวานเป็นอย่างดี แพทย์หลายๆ ท่านรักษาเบาหวาน เฉพาะเพียงลดระดับ น้ำตาลในเลือดเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว โรคเบาหวาน ไม่ใช่แค่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เท่านั้น แต่เป็นโรคร้าย ที่หากไม่ได้รับดูแลอย่างดีแล้ว จะเกิดผลเสียตามมามากมาย ..... หมอโรคหัวใจ และ หมอโรคไต ทราบดี เพราะผู้ป่วยโรคหัวใจ และ ไตวายเรื้อรังส่วนใหญ่ เป็นเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นความผิดปกติ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในร่างกาย ไปใช้ได้อย่างเต็มที่ สาเหตุเนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือ ไม่ขาดฮอร์โมน แต่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อ ฮอร์โมนตัวนี้ ผลที่ตามมาคือระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ปัจจุบัน หากระดับน้ำตาล ในเลือดที่เจาะหลังงดอาหาร 6 ชั่วโมงแล้ว ยังสูงกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เราก็เรียกได้ว่าเป็น โรคเบาหวาน ได้แล้ว

ระดับน้ำตาลที่สูงนี้ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ที่สำคัญ คือ เป็นตัวการเร่งให้เกิดการเสื่อม ของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ทั้งหลอดเลือดแดงที่เลี้ยง สมอง หัวใจ ตา ไต แขน-ขา รวมทั้ง หลอดเลือดแดงเล็กๆ ที่เลี้ยงปลายประสาทอีกด้วย ทำให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือดแดงเหล่านี้ ดังนั้นจะเห็นว่า โรคเบาหวาน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อ โรคทางสมอง อัมพาต โรคระบบประสาท โรคหัวใจ โรคไต โรคตา แม้กระทั่งโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือ ED ด้วย

หลักสำคัญในการรักษาผู้ป่วยเบาหวาน (ที่ผู้ป่วยควรทราบ)

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติให้มากที่สุดตลอดเวลา การที่จะ ทำเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมากจากผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย (ประเภทหวังดี ซื้อของมาให้รับประทาน หรือ ให้คำแนะนำผิดๆ) โดยการควบคุมอาหารอย่างเคร่ง ครัด รับประทานยาตามสั่ง ออกกำลังกายตามสมควร ลดน้ำหนัก หากยาไม่ได้ผลดีก็ จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน
หากมีความดันโลหิตสูงก็จำเป็นที่จะต้องลดความดันโลหิตให้น้อยกว่า หรือ ใกล้เคียง 130/80 มม.ปรอท ทั้งนี้ต้องไม่มีผลแทรกซ้อนจากยาลดความดันโลหิตด้วย จะสามารถป้องกัน หรือ ชลอภาวะไตวายได้
ลดไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดลงมากๆ โดยใช้ค่า LDL-Cholesterol เป็นเกณฑ์ ให้ LDL-C น้อยกว่า 100 มก./ดล. เทียบเท่าผู้ที่มีโรคหัวใจอยู่ เนื่องจากผู้ป่วย เบาหวานแทบทุกราย มีการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจซ่อนอยู่ด้วย การลดระดับ ไขมันในเลือดลงมากๆ (Cholesterol) จะช่วยลดปัญหาแทรกซ้อนทางหัวใจลง
แนะนำให้ผู้ป่วยพบจักษุแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันตาบอดจากเบาหวานขึ้นตา จอประสาทตาเสื่อม แนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเองที่บ้าน อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง การดูแลเท้า ผิวหนัง (โอกาสเกิดแผลที่เท้า และ ทำให้ต้องตัดเท้าพบได้บ่อยๆ)

จะเห็นว่า การรักษาโรคเบาหวาน ไม่ใช่แค่การไปเจาะเลือด ดูน้ำตาลในเลือด แล้วจัดยาเฉยๆ แต่การรักษาเบาหวานที่ได้มาตรฐาน จะเป็นการดูแลผู้ป่วยทุกระบบ โดยหวังว่าการดูแลอย่างดี จะช่วยป้องกันผลแทรกซ้อนที่ร้ายแรงจากเบาหวานได้ เช่น อัมพาต ไตวาย ตาบอด กล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น การรักษาเบาหวานให้ดี จึงไม่ใช่เรื่อง "หมูๆ" หรือ "หวานๆ" อย่างที่คิด

ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจสถานะสุขภาพประชากรไทย พบว่า ร้อยละ 52 ของผู้ป่วยเบาหวาน ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานมาก่อน, ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ความชุกของโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อย 2 เท่า, ปัจจัยที่ เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคเบาหวาน คือ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง และ อายุ


เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน


เบาหวาน จัดเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากความไม่สมดุลของปริมาณ อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรท (อาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาล) ที่รับประทานเข้าไปในร่างกายกับปริมาณของฮอร์โมนอินซูลิน ในภาวะปกติ ฮอร์โมนอินซูลิน ถูกหลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อที่ตับอ่อนเมื่อมีน้ำตาลเพิ่มขึ้นในเลือด เพื่อทำให้ร่างกายใช้น้ำตาล ที่ได้มาจากอาหารให้เป็นพลังงานภายในเซลล์ เมื่อปริมาณของฮอร์โมนอินซูลินไม่สมดุลกับอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาล ที่รับประทานเข้าไป ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ไม่ได้ดี จึงเกิดโรคเบาหวานขึ้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลดังกล่าว ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด มีการศึกษาที่ชี้แนะว่า เป็นผลจากพันธุกรรมหรือ เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสบางชนิดทำลายต่อมไร้ท่อ ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน หาใช่มีต้นเหตุมาจากการกินน้ำตาลมากเกินไปดังที่หลายคนเข้าใจกัน (แต่การกินของหวานทำให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลยากขึ้น) ในระยะแรกเริ่มที่ เกิดความไม่สมดุล ร่างกายของผู้นั้นจะปรับตนเองโดยอัตโนมัติ โดยผู้นั้นไม่รู้ตัวและยังไม่แสดงอาการออกมา จนกว่าความไม่สมดุลนี้มีมากเกินกว่าความสามารถในการปรับตัวของร่างกายผู้นั้นจะทำได้ ผู้นั้นจะค่อยๆ แสดงอาการ ของโรคเบาหวานออกมาจนกระทั่งมีอาการครบทุกรูปแบบ ดังนั้นกว่าผู้นั้นจะแสดงอาการออกมาให้เห็นชัดว่าเป็นโรคเบาหวาน โรคได้เกิดขึ้นก่อนแล้วนานหลายเดือนหรืออาจจะเป็นปีๆ แต่ยังไม่มีข้อมูลว่า การเข้าไปแก้ไขหรือรักษาตั้งแต่ในระยะที่ยังไม่แสดงอาการชัดเจน จะเกิดประโยชน์ที่เด่นชัด และดีกว่าการเข้าไปรักษาโรคในระยะที่มีอาการแล้วหรือไม่ จึงยังไม่มีการตรวจค้นหา ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานในระยะที่ยังไม่แสดงอาการทั้งๆ ที่เรามีวิธีการทดสอบอยู่แล้ว หากในอนาคตมีวิธีการรักษาใหม่ๆ ในระยะที่ยังไม่มีอาการและสามารถรักษาโรคให้หายขาดหรือหยุดยั้งการดำเนินโรคไว้ที่ตรงนั้นได้ ก็อาจจะมีการตรวจค้นหาผู้ที่ยังไม่แสดงอาการเพื่อให้การรักษาดังกล่าวได้ ดังนั้น ชีวิตของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานสามารถ แบ่งออกเป็นระยะต่างๆ ดังนี้คือ

ระยะที่หนึ่ง คือ ระยะเวลาตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์จนถึงหลังคลอด
ระยะที่สอง คือ ระยะเวลาหลังคลอดจนถึงระยะเวลาที่ตรวจพบว่าเริ่มเกิดความไม่สมดุลแต่ผู้นั้นยังไม่มีอาการของเบาหวาน การแบ่งออกเป็นระยะที่หนึ่งและสองยังไม่มีความสำคัญในขณะนี้ เพราะยังไม่มีการรักษาใดๆ ในปัจจุบัน
ระยะที่สาม คือ ระยะเวลาที่ตรวจพบว่าเกิดความไม่สมดุล และไม่มีอาการ จนถึงผู้นั้นเริ่มมีอาการของโรคเบาหวาน
ระยะที่สี่ คือ ระยะเวลาที่ผู้นั้นมีอาการของโรคเบาหวานไปจนถึงหายจากโรค
ระยะที่ห้า คือ ระยะที่หายจากโรคเบาหวานจนถึงแก่กรรม

ปัจจุบันเราพบผู้ป่วยและรักษาโรคเบาหวานในระยะที่สี่ ซึ่งเป็นระยะเวลา ที่ผู้ป่วยมาหาแพทย์ โรคเบาหวานไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดเท่านั้น แต่ยังทำให้ระบบประสาทและหลอดเลือดเสื่อมเร็วกว่าปกติ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติไม่สามารถแก้ไขความเสื่อมของระบบประสาทและหลอดเลือดที่เสื่อมไปแล้วได้ นักวิทยาศาสตร์หลายท่านจึงตั้งสมมติฐานว่า ถ้ามีการรักษาโรคเบาหวานตั้งแต่แรกเริ่มที่ยังไม่มีอาการ อาจจะป้องกันการเสื่อมของระบบประสาทและหลอดเลือดได้ ถ้าในอนาคตมีวิธีการรักษาดังกล่าวและป้องกันความเสื่อมได้จริง เราอาจจะมีวิธีการรักษาหรือควบคุมโรคเบาหวานตั้งแต่ผู้นั้นเป็นทารกในครรภ์มารดาเลยก็ได้ หากทำได้จะเป็นการป้องกัน ผู้นั้นไม่ ให้มีโอกาสแสดงอาการของโรคเบาหวาน หรือยืดเวลาที่ไม่แสดงโรคเบาหวานออกไป (ระยะที่สองและสาม) หรือลดความรุนแรงของโรคเบาหวานถ้าโรคจะต้องเกิดขึ้นในอนาคต ในส่วนที่ประชาชนทั่วไปทำได้เองในขณะนี้คือ การออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในสมดุล ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่อยู่ในระยะที่สองจนถึงระยะที่สี่และระยะที่ห้าของชีวิต ให้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในท้ายบทความเกี่ยวกับ การออกกำลังกายและน้ำหนักที่อยู่ในสมดุล

โรคเบาหวานพบได้ในประชากรไทยตั้งแต่ร้อยละ ๓ ถึง ๑๐ แล้วแต่พื้นที่และภาวะโภชนาการ โรคนี้พบได้ทั้งสองเพศ มักพบในวัยกลางคน แต่สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้เข้าสู่วัยทอง ใน อดีต ที่ประเทศไทยยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา โรคเบาหวานจะพบได้ ประมาณร้อยละ ๑-๔ เท่านั้น โรค เบาหวานมี ๒ ประเภท

ประเภทที่หนึ่ง เกิดจากร่างกายขาดอินซูลินเพราะต่อมสร้างอินซูลินที่ตับอ่อนถูกทำลาย
ประเภทที่สอง ไม่ได้เกิดจากการ ขาดอินซูลิน แต่ร่างกายอาจจะ มีอินซูลินเพิ่มขึ้นในร่างกายแต่ ก็ยังเป็นโรค เบาหวาน เพราะความผิดปกติเริ่มจาก ปัจจัยหรือสารบางอย่างทำให้ ร่างกายไม่สามารถใช้อาหารประเภทแป้งและน้ำตาลให้เป็นพลังงานได้ตามปกติ น้ำตาลจึงสะสมเพิ่มขึ้นในร่างกายและร่างกายต้องหลั่งอินซูลินเพิ่ม ตามระดับน้ำตาล เพื่อพยายามแก้ไขภาวะการที่ไม่สามารถใช้น้ำตาลให้เป็นพลังงานได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อต่อมผลิตอินซูลินจนผลิตเพิ่ม ไม่ไหวแล้ว อาการของโรคเบาหวานจึงแสดงออกมา

โรคเบาหวานประเภทที่สองเป็นประเภทที่พบบ่อยกว่าประเภทแรก ปัจจัยภายนอกบางอย่างที่ขัดขวางหรือลดประสิทธิภาพของอินซูลินในการใช้น้ำตาลให้เป็นพลังงานได้แก่ การกินอาหารที่อุดมสมบูรณ์มากเกินพอ สภาพการทำงานของคนในกรุงเทพที่เป็นแบบนั่งอยู่ในสำนักงาน และขาดการออกกำลังกาย การมีความเครียดด้านจิตใจเพิ่มขึ้นจากเรื่องต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ผู้นั้นไม่สามารถแก้ไขได้ การที่ผู้ป่วยได้รับยาที่ต้านฤทธิ์ของอินซูลิน เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนส่งเสริมให้เป็นโรคเบาหวานประเภทที่สองได้ง่ายขึ้น อาการนำ ๓ อย่างที่พบบ่อย ของ ผู้ที่เป็น โรค เบาหวานได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย แต่ ผอมลง หรือ น้ำหนักลด ผู้ป่วยยัง กินอาหารได้ หรือกินเก่งขึ้น บางรายอ้วนขึ้นก่อนแล้วค่อยผอมลง แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกผิดปกติและมาหาแพทย์ตอนน้ำหนักลด นอกจากนี้ จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายขึ้น การที่ถ่ายปัสสาวะบ่อยเพราะร่างกายใช้น้ำตาลในร่างกายไม่ได้ดี จึงมีน้ำตาลท่วมท้นในกระแสเลือดและน้ำตาลที่ท่วมท้นจะถูกขับออกมาในปัสสาวะ น้ำตาลที่ถูกขับออกมาในปัสสาวะจะดึงน้ำตามออกมาในปัสสาวะด้วย จึงเป็นการเพิ่มปริมาณปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ใส และมีปริมาณมาก ซึ่งแตกต่างจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะบ่อยแต่มีจำนวนน้อย และปัสสาวะขุ่น บางครั้งจึง มีมดมาตอมน้ำตาลในปัสสาวะ คนปกติจะไม่มีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะเลย การสูญเสียปริมาณ น้ำปัสสาวะมากทำให้หิวน้ำบ่อยและต้องดื่มน้ำชดเชยบ่อยขึ้น น้ำหนักลดเพราะร่างกายใช้น้ำตาลเป็นพลังงานไม่ได้และ น้ำตาลสูญเปล่า เพราะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ร่างกายจึงต้องไปดึงไขมันและโปรตีนในร่างกายมาเผาผลาญเป็นพลังงานแทน ร่างกายจึงผอมลง การถ่ายปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก ทำให้มีการสูญเสียเกลือแร่ออกนอกร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียง่ายขึ้น ถ้าผู้ป่วยไม่รักษาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เรื้อรังและเกิดขึ้นช้าๆ ได้แก่ ความผิดปกติใน การทำงานของระบบประสาทโดยเฉพาะการรับรู้ความรู้สึก และหลอดเลือดแดง ผู้ป่วยเบาหวานจะมีเท้าชา รับรู้ความรู้สึกเจ็บและการสัมผัสลดลง โดยเฉพาะที่ปลายมือปลายเท้า ส่วนผิวในของหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก จะเสื่อมเร็วขึ้น ทำให้หลอดเลือดแดงขนาดเล็กตีบหรือตันง่ายขึ้น ระบบการแข็งตัวของเลือดจะทำให้เลือดแข็งตัวง่ายขึ้นด้วย ปัจจัยทั้งสอง จะส่งเสริมให้หลอดเลือดแดงตีบหรือตันง่ายขึ้น เลือดจึงไปเลี้ยงที่อวัยวะต่างๆ ลดลงและบางครั้งมีการอุดตันของหลอดเลือดแบบฉับพลันได้ จึงเกิดโรคที่เป็นจากผลจากอวัยวะขาดเลือดฉับพลันซึ่งได้แก่เนื้อตายในอวัยวะนั้น ถ้าเกิดที่หลอดเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยง สมอง หัวใจ ไต ผลร้ายก็คือ ทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคอัมพาตของแขนขาหรืออัมพาตครึ่งซีกหรือหมดสติ หรือเกิดอาการแน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจวายฉับพลัน ไตพิการเรื้อรัง เป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะค่อยๆ เกิดขึ้นและมีผลให้เกิดผลร้ายซ้ำเติมตามมาอีก ที่สำคัญคือ แผลเบาหวาน และติดเชื้อ ต้อกระจก และอวัยวะปลายทางขาดเลือด เป็นต้น

แผลเบาหวาน เป็นภาวะซ้ำเติมที่รู้จักกันดีทั้งในหมู่แพทย์ พยาบาลและผู้ป่วย แต่การดูแลรักษาแผลเบาหวานมักจะไม่ถูกต้องตั้งแต่แรกหรือให้การรักษาช้าเกินไป ผลร้ายที่ตามมาคือ ต้องตัดนิ้วหรือตัดเท้าหรือตัดขาส่วนล่างระดับหน้าแข้งลงไป หรือตัดขาทิ้งตั้งแต่ขาท่อนบนลงมา ผลร้ายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกในยุคปัจจุบัน เพราะเรามียาและวิธีรักษาที่ดีมากที่จะรักษาโรคให้หายขาดตั้งแต่เริ่มต้น ผู้ป่วยเบาหวานต้องดูเท้าตนเองทุกวันว่า มีแผลเกิดขึ้นหรือไม่ ดูให้เห็นชัดๆ ว่า ไม่มีแผลเพราะผู้ป่วยอาจจะมีต้อกระจกรวมอยู่ด้วย ทำให้เห็นไม่ชัด ถ้ารอให้เกิดความรู้สึกเจ็บที่แผลหรือมีไข้ก่อนแล้วค่อยไปหาแพทย์ ก็จะช้าไป ถ้ามีแผลเกิดขึ้นจากการมองเห็นด้วยสายตา ต้องหมั่นทำแผลให้สะอาดและให้แพทย์มาร่วมดูแลแผลด้วยตั้งแต่ต้น ผู้ป่วยหลายรายเชื่อเรื่องการพอกแผลด้วยสมุนไพรที่บอกต่อๆ กันมา ขอแนะนำให้พบแพทย์ก่อนด้วย ไม่ควรใช้สมุนไพรรักษาตามลำพังโดยไม่มีใครช่วยติดตามและประเมินผล โดยส่วนตัวไม่แนะนำให้ใช้สมุนไพรรักษาแผลเบาหวานเพราะเห็นมาหลายรายแล้วว่า ไม่ได้ผล ทำให้พลาดโอกาสที่จะหายจากโรคโดยเร็ว บางครั้งเห็นมีแผลขนาดเล็กที่เท้าแต่มีไข้ขึ้น แสดงว่า แผลได้เซาะลึกเข้าใต้ชั้นผิวหนังและลามแผ่ออกไปใต้ชั้นผิวหนังแล้ว

การรักษาแผลเบาหวานต้องใช้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมโดยเฉพาะแผลที่มีกลิ่นเหม็นเน่า แผลเหล่านี้จะลุกลามได้ง่ายเพราะเลือดมาเลี้ยงน้อย ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ต่อสู้กับเชื้อโรคตรงบริเวณที่มีแผลไม่ไหว จึงขอแนะนำให้ดูแลแผลเบาหวานโดยให้แพทย์ร่วมดูแลรักษาตั้งแต่ต้น การป้องกันการเกิดแผลที่เท้าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด หมั่นสวมรองเท้าหัวปิดที่ไม่คับ ให้เลือกรองเท้าที่นุ่มและสวมใส่สบาย เวลาอาบน้ำควรนวดถูเท้าเบาๆ ให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น หรือแช่เท้าในน้ำอุ่นเล็กน้อย ต้องระวังอย่าใช้น้ำร้อนจัดเพราะผู้ป่วยอาจจะรู้สึกร้อนเพียงเล็กน้อยที่เท้า แต่เท้าบวมพองไปแล้ว พอนวดเท้าและทำความสะอาดเท้าเสร็จ ให้ซับน้ำที่เท้าให้แห้ง เนื่องจากการติดเชื้อที่แผลเบาหวานเป็นเชื้อโรคที่มากับอุจจาระ จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า แผลเบาหวานได้รับเชื้อดังกล่าวจากน้ำในห้องน้ำหรือห้องส้วมที่ปนเปื้อนอุจจาระ ส้วมหรือห้องน้ำของผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องแห้งและสะอาด ถ้ามีแผลและต้องเข้าห้องน้ำหรืออาบน้ำ ต้องห่อเท้าด้วยถุงพลาสติกให้มิดชิดขณะอาบน้ำหรือเข้าห้องน้ำ และถอดถุงพลาสติกออกทันทีที่ออกจากห้องน้ำ

ยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวานมีทั้งยากินและยาฉีด ยากินจะใช้ไม่ได้ผลในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานประเภทที่หนึ่ง เพราะ ไม่มีต่อมหรือมีต่อมไม่เพียงพอที่จะผลิตอินซูลินและ ยากินต้องอาศัยการออกฤทธิ์กระตุ้นต่อมให้สร้างอินซูลินเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานประเภทที่หนึ่งจึงต้องฉีดยาอินซูลินชดเชยตลอดชีพ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานประเภทที่สองใช้ยากินได้ถ้าโรคไม่รุนแรงจนเกินไป ถ้าโรครุนแรงจนถึงระดับหนึ่ง การใช้ยากินอย่างเดียวจะไม่ได้ผลเช่นกัน จึงต้องใช้ยาฉีดร่วมด้วยในกรณีนี้

โดยทั่วไปผู้ป่วยต้องลดการกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลหรือถึงกับพยายามหลีกเลี่ยง ถ้ายังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ การรักษาต้องติดตามการตรวจระดับน้ำตาลเป็นระยะๆ ว่า การรักษาได้ผลหรือไม่ หรือได้ผลน้อยไปหรือมากไป? แต่ในช่วงแรกที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักลดลงมาก ยังไม่ต้องควบคุมอาหารมากนัก ก็ได้ปล่อยให้ผู้ป่วยกินอาหาร และได้ยาจนน้ำหนักตัวอยู่ ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก่อน แล้วค่อยจำกัดอาหารต่อไป การควบคุมอาหารจึงต้องควบคุมให้อยู่ในสมดุล

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีการรักษาเบาหวานที่สำคัญมากด้วย ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมและทันทีเพราะจะทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อบาดเจ็บได้ การออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ การค่อยๆ ออกกำลังกายจนมีเหงื่อเล็กน้อย ระยะเวลาที่ออกกำลังกายอยู่ระหว่าง ๒๐ - ๓๐ นาที ให้ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ - ๓ ครั้ง ถ้าสามารถออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันได้ จะยิ่งดีมากและผู้นั้นจะออกกำลังกายได้นานขึ้นโดยไม่เหนื่อยง่าย ปริมาณงานของการออกกำลังกายแต่ละวันจะต้องมีขนาดอย่างน้อยเท่ากับการเดินเร็วนาน ๓๐ นาทีต่อวัน สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักมากเกินอยู่แล้วหรือมีปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่าเสื่อมหรือเจ็บที่เท้า การออกกำลังกายในสระน้ำจะช่วยให้มีการออกกำลังกายโดยไม่ทำให้ขาหรือเข่ามีปัญหามากขึ้น ควร ออกกำลังกายโดยเล่นกีฬาบางอย่าง หรือ เดินเร็วๆ หรือวิ่งเหยาะๆ เป็นต้น

การรักษาและการออกกำลังกายที่ได้สมดุล จะทำให้ผู้นั้นมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยของคนปกติทั่วไปตามค่าดัชนีมวลกาย ทำให้ ผู้ป่วยรู้สึกแข็งแรงดีกระฉับกระเฉงเหมือนเดิม นำหนักตัวที่เหมาะสมสามารถทราบได้ด้วยตนเองอยู่แล้วไม่ต้องให้ใครมาบอกก็รู้อยู่แก่ใจ ถ้าต้องการข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ที่เป็นตัวเลข เราสามารถคำนวณได้โดยเอาน้ำหนักเป็นกิโลกรัมเป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรที่ยกกำลังสองแล้วสูตรคำนวณคือ น้ำหนัก(กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูงยกกำลังสอง (เมตร) เช่น หนัก ๗๐ กิโลกรัมและสูง ๑.๘๐ เมตร จะได้ดัชนีมวลกายเท่ากับ ๗๐ หารด้วย (๑.๘๐) ๒ ได้เท่ากับ ๗๐ หารด้วย ๓.๒๔ เท่ากับ ๒๑.๖ จำง่ายๆ ว่า ค่าปกติอยู่ระหว่าง ๒๐-๒๕ ถ้า อยู่ระหว่าง ๒๖-๓๐ ให้เริ่มระวังว่า น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอีก ต้องเริ่มควบคุมน้ำหนัก ถ้าได้ค่าเกิน ๓๐ ต้องหามาตรการควบคุมน้ำหนักให้ได้

การกินแต่อาหารกลุ่ม fast food ประจำ การนั่งเล่นเกมอยู่หน้าโทรทัศน์เป็นประจำ ล้วนแต่เป็นการบ่อนทำลายสุขภาพของตนเอง การควบคุมน้ำหนัก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และการออกกำลังกาย ถือว่า เป็นเรื่องที่เราทุกคนสามารถทำได้ในทุกระยะของชีวิตคนเป็นเบาหวานตั้งแต่เกิดมา และสามารถทำได้ในประชากรทั่วไปไม่ว่าจะป่วยหรือไม่เคยป่วยเป็นโรคใดก็ตาม

การปฏิบัติตนในด้านอื่นๆ ของผู้ที่เป็นเบาหวานอีกข้อคือ ผู้ป่วยต้องกินยาต้านเบาหวานหรือฉีดยาให้สม่ำเสมอ ส่วนการกินยาสมุนไพรต่างๆ น่าจะช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้นได้ถ้ามีผู้นั้นมีความเชื่อในสรรพคุณของสมุนไพร เพียงแต่ ผู้เขียนสามารถรับรองได้ว่า การกินแต่ยาแผนปัจจุบันอย่างเดียวก็สามารถคุมโรคเบาหวานได้แน่นอนอยู่แล้ว ผู้ที่กินสมุนไพรร่วมด้วยโดยที่เชื่อว่า สมุนไพรดังกล่าวไม่มีพิษหรือผลร้ายใดๆ เลยนั้น ผู้กินก็ต้องประเมินผลการกินสมุนไพรเหมือนกับการกินยาแผนปัจจุบันด้วยเหมือนกัน

ผู้ที่เป็นเบาหวานต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นหรือทำให้การรักษาเบาหวานยากขึ้น เช่น ต้องงดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุราจนเมามายหรือดื่มเป็นประจำที่มากเกินไป อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์และถ่ายเท หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น วัณโรค ไม่เกาตามผิวหนังอย่างรุนแรงเมื่อรู้สึกคันโดยเฉพาะตามรักแร้หรือในที่อับชื้น ไม่ขยี้หนังตารุนแรงเมื่อรู้สึกคันตา ต้องล้างมือเมื่อสัมผัสสิ่งสกปรกหรือเมื่อจะแตะต้องผิวหนังของตนเองโดยเฉพาะในบริเวณที่อับชื้น ต้องล้างมือตนเองให้สะอาดเมื่อจะทำแผลของตนเอง เป็นต้น

ขณะที่รักษาโรคเบาหวาน หากมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นโดยที่ไม่เคยมีมาก่อน ต้องรีบหาสาเหตุและให้การแก้ไข เช่น ถ้ามีอาการ เหงื่อแตก หมดแรงจะเป็นลม โดยไม่มีอาการแน่นหน้าอกหรือถ่ายอุจจาระดำ มักเกิดจาก น้ำตาลต่ำในเลือด ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานจึงต้องมีเม็ดลูกกวาดหรือก้อนน้ำตาลเตรียมไว้อม เพื่อแก้ไขอาการดังกล่าว การอมลูกกวาดหรือก้อนน้ำตาลหรือดื่มน้ำหวานแล้วฟื้นคืนสติภายในเวลา ๕ นาที จะ ยืนยันว่า อาการดังกล่าว มีสาเหตุจากน้ำตาลในเลือดต่ำจริง หากเกิดภาวะนี้ ต้องหาสาเหตุและแก้ไขอีกเช่นกัน ถ้ามีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้นตามลำดับ ต้องระวังว่า เกิดจากการรักษาเบาหวานที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ได้รักษาอย่างสม่ำเสมอ ต้องไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและแก้ไขอีกเช่นกัน

โดยสรุป โรคเบาหวานเป็นโรคที่พบบ่อย การรักษาไม่ยุ่งยาก และผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้ แต่ผู้ป่วยต้องเข้าใจโรคและร่วมมือกับแพทย์ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง การมีพฤติกรรมที่เหมาะสม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การควบคุมน้ำหนักโดยการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง เป็นการส่งเสริมสุขภาพของผู้นั้นและทำให้เจ็บป่วยจากโรคอื่นน้อยลง การรักษาจึงจะได้ผลดีและส่งผลให้ร่างกายคงอยู่ในสภาพที่แข็งแรงและใช้งานได้นานเท่าคนปกติได้

สาระความรู้เรื่องโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะให้เป็นปกติได้

โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ไปสู่บุตรหลานได้

สาเหตุ : เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งเป็นฮอร์โมนอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยนำพาน้ำตาลเข้าไปในเนื้อเยื่อ เพื่อไปใช้เป็นพลังงาน ในกรณีที่ร่างกายขาดอินซูลิน จะเกิดภาวะน้ำตาลคั่งในเลือด แล้วถูกขับออกมากับปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการเบาหวาน

อาการ : ระยะแรกไม่มีอาการบ่งชัด เมื่อเป็นระยะหลัง จะมีอาการชัดเจนคือ

ดื่มน้ำบ่อยและมาก
กินจุแต่ผอมลง
เป็นแผลหรือฝีง่าย แต่หายยาก
ตาพล่ามัว
บุตรคนแรกคลอดน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม
ปัสสาวะบ่อยและมาก
น้ำหนักลด และอ่อนเพลีย
คันตามผิวหนัง และบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
ชาปลายมือปลายเท้า ความรู้สึกทางเพศลดลง

การรักษา : ต้องควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และควบคู่กับการรักษาทางยา

1.
อาหาร : อาหารที่รับประทานแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก ควรหลีกเลี่ยงไม่ควรรับประทานได้แก่
อาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบโดยตง รวมทั้งน้ำผึ้งด้วย
ผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก ฯลฯ

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม ฯลฯ
กลุ่มสอง ต้องจำกัดปริมาณ ได้แก่
อาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว เผือก มัน ฯลฯ
อาหารประเภทไขมัน เช่น มะพร้าว น้ำมันหมู อาหารที่ทอดด้วยน้ำมัน ฯลฯ
ผลไม้ที่มีรสหวานอ่อนๆ เช่น ส้ม มะละกอสุก ฯลฯ
กลุ่มสาม รับประทานได้ไม่จำกัด เช่น
เนื้อสัตว์ฺที่ไม่มีมัน และปลา
เครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ
เครื่องเทศต่างๆ ถั่วต่างๆ

ควรกินอาหารที่มีเส้นใยมากๆ เช่น ข้าวซ้อมมือ ผักทุกชนิด เม็ดแมงลัก
2.
ออกกำลังกานสม่ำเสมอ จะเกิดผลดี

ทำให้ระดับน้ำตาล ควบคุมได้ดีขึ้นและทำให้การใช้ยากินหรือยาฉีดน้อยลงได้
ทำให้ช่วยลดน้ำหนักตัว

ช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูง และอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
3.
ยา : ควบุคมระดับน้ำตาล ด้วยยารักษาเบาหวานสม่ำเสมอตามแผนการรักษาของแพทย์

โรคแทรกซ้อน

1.
พบภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
2.
โรคตาจากเบาหวาน เช่น ตามัว ต้อกระจก
3.
โรคไตจากเบาหวาน เช่น เกิดไตเสื่อมสมรรถภาพในการขับถ่าย และเกิดไตวายในที่สุด
4.
หลอดเลือดสมองตีบ-ตัน ทำให้เป็นอัมพาต กลืนลำบาก พูดไม่ชัด
5.
หลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย
6.
กลุ่มโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายเกิดแผลที่เท้าและเน่า มีแผลจะติดเชื้อง่ายรักษายาก
7.
เกิดอักเสบจากปลายประสาท ทำให้มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า หมดความรู้สึกทางเพศ

การปฏิบัติตัว ของผู้ป่วยเบาหวาน

ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน เช่น เดิน หรือ วิ่งเหยาะๆ
รักษาเท้าให้สะอาด อย่าตัดเล็บสั้นเกินไป และอย่าสวมรองเท้าคับเกินไป
ถ้ามีบาดแผลรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษา
ทำจิตใจให้สบาย ความเครียดหรือกังวลใจมากๆ จะทำให้น้ำตาลถูกขับออกจากตับมาก มีผลให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มมากขึ้น

อันตราย ที่อาจเกิดขึ้นได้ทันที

1.
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมาก : ผู้ป่วยจะมีอาการกระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ใจเต้นแรงเร็ว หายใจหอบลึก มีกลิ่นเหมือนผลไม้สุก ซึม และอาจหมดสติได้
วิธีแก้ไข

รีบพบแพทย์หรือส่งโรงพยาบาลด่วน หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้
2.
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
วิธีแก้ไข

เมื่อเริ่มรู้สึกหิว ใจสั่น มือสั่น ให้กินน้ำหวาน หรือน้ำตาล หรือของหวานๆ ทันที

หากหมดสติให้นำส่งโรงพยาบาล ถ้าชักช้าอาจอันตรายถึงชีวิต

เราจะทราบว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ โดย

ไปพบเพทย์ตรวจหาน้ำตาลในเลือด
ตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะ

ข้อปฏิบัติในการมาเจาะเลือด เพื่อตรวจเบาหวาน

1.
งดอาหาร และเครื่องดื่มทุกชนิด ยกเว้นน้ำดื่ม ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนก่อนวันเจาะเลือดจนถึงเวลาเจาะเลือด
2.
งดฉีดกลูโคส น้ำเกลือทางเส้นเลือดหลังเที่ยงคืนจนถึงเวลาเจาะเลือด

การรักษาเบาหวานต้องยึดสิ่งสำคัญ คือ การรักษาทางยา ควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย ผู้ป่วยเบาหวาน ถ้าเป็นวัณโรคด้วย โรคอาจกำเริบมากขึ้น ต้องควบคุมรักษาเบาหวานโดยใกล้ชิดจากแพทย์

เบาหวาน โรคคุ้นหูที่ไม่ธรรมดา


โรคเบาหวานเป็นโรคที่พบได้บ่อยและมักจะพบได้หลายคนในครอบครัวเดียวกัน จนอาจมองได้ว่าโรคนี้อาจติดมาจากพันธุกรรมได้

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณะสุขพบว่า ปัจจุบันคนที่วัย 35 ปีขึ้นไปป่วยเป็นเบาหวานมากถึง 2.4 ล้านคน และที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือผู้ที่เข้ารับการรักษากว่าครึ่งไม่เคยรู้มาก่อนว่าป่วยเป็นเบาหวาน

ลองทำแบบทดสอบดูว่าคุณเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานมากน้อยเพียงใด โดยทำเครื่องหมาย ถูก ที่หน้าหัวข้อนั้นๆ หากตรงกับสภาพและอาการของตน...

คุณมีอายุมากกว่า 35 ปี
มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคเบาหวาน
ชอบกินของหวานๆ มันๆ
หิวบ่อย ทานจุ
ออกกำลังกายน้อย
กระหายน้ำบ่อย
อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย
ตาพร่า มองไม่ชัด
ความดันโลหิตสูง
น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
ปวด แน่น จุกเสียดหน้าอก
น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
ชาตามปลายมือปลายเท้า
ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะ

หากคุณตอบว่าใช่เป็นส่วนใหญ่แสดงว่าคุณอาจเป็นโรคเบาหวานจำเป็นต้องรีบบำบัดรักษาก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

เบาหวานคืออะไร

เบาหวานเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้อย่างเพียงพอ หรือร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยกว่าปกติ จึงไม่สามารถเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตรวมถึงโปรตีนและไขมันบางส่วนได้อย่างเหมาะสม ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติและเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น หัวใจวาย ตาบอด ไตวาย อัมพฤกษ์ อัมพาตและโรคติดเชื้อ เป็นต้น

เบาหวานจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้

เบาหวานชนิดที่ 1 หรือเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน ซึ่งเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้อย่างเพียงพอ เบาหวานชนิดนี้ส่วนใหญ่จะพบในเด็กและวัยรุ่น ประมาณ 10% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดเป็นเบาหวานชนิดที่ 1

เบาหวานชนิดที่ 2 หรือเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ซึ่งตับอ่อนของผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ส่วนใหญ่สร้างอินซูลินได้อย่างเพียงพอ แต่ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยกว่าปกติ

ประมาณ 90% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดเป็นเบาหวานชนิดที่ 2

โรคแทรกซ้อนของเบาหวานมีอะไรบ้าง

ตา อาจเป็นต้นกระจกก่อนวัย ประสาทตาหรือจอตาเสื่อม และอาจทำให้ตาบอดในที่สุด
ระบบประสาท ผู้ป่วยอาจะเป็นปลายประสาทอักเสบ มีอาการชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลาย
เท้า ซึ่งมักจะทำให้มีแผลเกิดขึ้นที่เท้าได้ง่ายและอาจลุกลามจนเท้าเน่า กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงาน ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือไม่มีแรงเบ่งปัสสาวะ กระเพาะอาหารไม่ทำงาน มีอาการจุกเสียด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเดิน โดยเฉพาะเช้ามือถึงก่อนเที่ยง ผู้ป่วยชายมักมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
ไต มักเกิดภาวะไตวาย มีอาการบวม ซีด ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานที่พบได้ค่อนข้างบ่อย
ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ถ้าหลอดเลือดแดงที่เท้าแข็งและตีบ เลือดไปเลี้ยงเท้าไม่พออาจทำให้เท้าเย็น เป็นตะคริว ปวดขณะเดินมากๆ หรืออาจทำให้เป็นแผลหายยากหรือนิ้วเท้าเป็นเนื้อตายเน่า
ภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย เช่น วัณโรคปอด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ กลาก โรคเชื้อชา เป็นฝีหรือพุพองบ่อย นิ้วเท้าหรือช่องคลอดอักเสบ เป็นต้น
แผลที่เท้า เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมักมีภาวะปลายประสาทอักเสบ และภาวะขาดเลือดทำให้เท้าชาเกิดแผลได้ง่ายและหายยากหรือเป็นเนื้อตายเน่า บางครั้งจำเป็นต้องตัดนิ้วหรือตัดขา ทำให้เกิดภาวะพิการได้

ทำไมผู้ป่วยเบาหวานมักเสียชีวิตจากโรคหัวใจ

ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในอายุที่น้อยกว่าและรุนแรงกว่า เนื่องจากระดับน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นทำให้ผนังหลอดเลือดแดง ทั้งรายการเกิดความผิดปกติและเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีโรคอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย เช่น โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นต้น

โรคเหล่านี้จะเร่งให้โครงสร้างและสภาพของหลอดเลือดเกิดความผิดปกติมากขึ้นและเร็วขึ้น หลอดเลือดหัวใจจึงเกิดการอักเสบ ทำให้คราบไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือดมีการแตกออก ซึ่งจะทำให้เกิดลิ่มเลือดมาอุดตันหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบจึงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้ป่วยเบาหวาน

อาการโรคหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานจะแตกต่างจากผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วไปอย่างไร

สำหรับอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีพในผู้ป่วยเบาหวานอาการเจ็บหน้าอกมักจะไม่ชัดเจนหรือไม่มีเลย เนื่องจากประสาทรับความรู้สึกในผู้ป่วยเบาหวานเสื่อมสภาพลง จึงมักจะมีแค่อาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ แน่น จุกเสียดหน้าอกเหมือนอาหารไม่ยอม วิงเวียน ตัวเย็น เหงื่อออก ใจสั่นรู้สึกคล้ายจะเป็นลม อาการเหล่านี้อาจมีอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกันและอาจเกิดขึ้นในเวลาใดก็ได้

วิธีการบำบัดแบบองค์รวมของการแพทย์จีน

เป็นที่ทราบกันว่าโรคเบาหวานมีโรคแทรกซ้อนหลายอย่างที่ทำให้เกิดภาวะพิการและมีอันตรายถึงชีวิต การบำบัดโรคเบาหวานของการแพทย์จีนจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเท่านั้น แต่ยังเน้นความสำคัญกับการรักษาต้นเหตุและโรคแทรกซ้อนของเบาหวานไปพร้อมๆ กัน ดังนี้

ทำความสะอาดและทะลวงหลอดเลือด สลายลิ่มเลือดและไขมัน ทำให้หลอดเลือดโล่งสะอาด ดังทฤษฎีการวินิจฉัยและรักษาอันสำคัญของการแพทย์จีน ปวดแสดงว่าไม่โล่ง โล่งแล้วก็จะไม่ปวด จึงป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อนของเบาหวาน เช่น โรคหลอดเลือด หัวใจตีบ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปรับความสมดุลของร่างกายโดยเฉพาะความสมดุลของตับและตับอ่อน ทำให้มีการสังเคราะห์โคเลสเตอรอลและอินซูลินในปริมาณที่เหมาะสม และเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลแล้วก็จะตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างปกติ จึงสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บำรุงรักษาไตที่เสื่อมลงให้แข็งแรงขึ้น เนื่องจากไตเสื่อมทำให้เกิดโรคเบาหวาน แต่เมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้วก็จะทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นจนเกิดภาวะไตวายซึ่งเป็นวัฏจักรที่เลวร้าย การบำรุงรักษาไตจึงมีบทบาทสำคัญในการบำบัดฟื้นฟูโรคเบาหวานด้วย

ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้ถูกสุขลักษณะ พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อใช้วิธีบำบัดรักษาแบบองค์รวมควบคู่กับการปฎิบัติตัวอย่างถูกต้อง อาการต่างๆ ของเบาหวานจึงค่อยๆ ทุเลาลงหรืออาจหายไปในที่สุด

อาหาร เกี่ยวข้องกับ โรคภัยไข้เจ็บ ได้อย่างไร


เป็นที่ทราบกันดีว่า อาหารที่เรารับประทานทุกวันนี้ มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่ท่านรู้หรือไม่ว่า อาหารบางชนิด ก็เกิดโทษอย่างที่ เราคาดไม่ถึงเหมือนกัน เช่น อาหารที่มีไขมันสูง อาจจะทำให้เกิดเส้นเลือดอุดตันที่หัวใจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดในคนสูงอายุเท่านั้น ปัจจุบันเราพบภาวะไขมันสูง และมีโรคเส้นเลือดอุดตัน ในคนหนุ่มสาวได้เช่นกัน

เนื่องจากคนไทยเรายุคนี้ แนวโน้มของการรับประทานอาหาร ที่มีไขมันสูง จะมากขึ้นจากอิทธิพลของชาวตะวันตก จึงพบว่าคนไทยเรามี อัตราเสียชีวิตจาก โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันเพิ่มขึ้นไปด้วย

นอกจากนั้น ความอ้วนและการชอบรับประทานอาหารรสเค็มจัดเป็นประจำ ก็เป็นปัจจัยเสริมของ การเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้

เนื่องจากปัจจุบัน เรามีการศึกษาเรื่องไขมัน และโทษของมันมากขึ้น จึงอยากให้มาทำความรู้จักกับไขมันในเลือด ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่ม (เพื่อสะดวกในการจำและนำไปใช้) ดังนี้

1.
ไขมันเลว (ถ้ามีปริมาณมากจะเป็นโทษต่อร่างกาย) ได้แก่ โคเลสเตอรอล, ไตรกลีเซอไรด์, LDL (ต่อไปถ้าแพทย์ บอกว่า LDL ให้ฟัง คงเข้าใจได้ดีขึ้น) ไขมันอิ่มตัว (ในฉลากอาหาร, ฉลากข้างขวดน้ำมันพืชบางยี่ห้อ จะเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า SATURATED FAT. นั่นหมายถึงไขมันอิ่มตัวนั่นเอง) นอกจากนั้นก็มีไขมัน TFA (ไม่ต้องจำชื่อก็ได้ แต่ให้ทราบว่า, ถ้าไขมันที่ดี ของเราผ่านขบวนการ ทางอุตสาหกรรม หรือทางเคมี ก็จะทำให้เปลี่ยนเป็นไขมันเลว หรือ TFA ได้ เช่น ผ่านความร้อนสูงมาก เช่น การกลั่นน้ำมันพืช หรือเติมไฮโดรเจน ให้อาหารกรอบ เช่น คุ๊กกี้ขนมกรอบทั้งหลาย เป็นต้น)
2.
ไขมันดี เช่น HDL (คงได้ยินคุณหมอพูดกันบ่อยๆ) ไขมันไม่อิ่มตัว (UNSATURATED FAT) (ซึ่งรวมถึงไขมัน โอเมก้า 3 ด้วย), เลซิติน พวกนี้จัดเป็นไขมันดี ซึ่งจะช่วยป้องกัน โรคเส้นเลือดอุดตันที่หัวใจ และทำให้มีสุขภาพดี

เราควรรู้ค่าปกติของไขมันในเลือดบางตัว ที่เราสามารถตรวจวัดได้ ดังนี้

1.
โคเลสเตอรอลรวม (total cholesterol) เป็น Cholesterol ทุกชนิดรวมกันค่าปกติ ไม่ควรเกิน 200 mg ถ้าสูง ต้องงด อาหารพวก ที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง, ไขมันสัตว์, เครื่องในสัตว์ (ถ้าอยากทราบว่าอาหารอะไรมี โคเลสเตอรอลประมาณเท่าไร ให้หาอ่านในหนังสือ เกี่ยวกับโภชนาการทั่วๆ ไปได้)
2.
โคเลสเตอรอล HDL. ซึ่งเป็นไขมันดี ค่ายิ่งสูงยิ่งดี, ถ้าต่ำกว่า 35 mg ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อ โรคเส้นเลือดอุดตันที่หัวใจ การสูบ บุหรี่, ภาวะอ้วน, ภาวะขาดอาหาร จะทำให้ HDL ต่ำลงได้ ส่วนการออกกำลังกายจะทำให้ HDL เพิ่มขึ้น การดื่มไวน์แดงจำนวนเล็กน้อย เป็นประจำพบว่าเพิ่มไขมัน HDL ได้ถึง 5-10%
3.
โคเลสเตอรอล LDL เป็นไขมันเลว ปกติไม่เกิน 130 mg ถ้าเกิน 160 mg จะมีความเสี่ยงต่อ โรคหัวใจเพิ่มขึ้น การควบคุมว่า จะเข้มงวดมากน้อยเพียงไร, ต้องกินยารักษาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรามีโรคอย่างอื่น ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ร่วมอยู่ด้วยหรือไม่
4.
ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันเลวอีกชนิดหนึ่ง ถ้าสูงมากจะเกิดตับอ่อนอักเสบได้ หรือเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจได้ ค่าปกติไม่ควรเกิน 200 mg พบมากในอาหารพวกแป้ง, ของหวาน

ส่วนไขมันอิ่มตัวหรือไขมันไม่อิ่มตัวนั้น เราตรวจเลือดวัดออกเป็นตัวเลขไม่ได้ ต้องควบคุมปริมาณที่กินเข้าไป โดยต้องทราบว่า ควรกิน ไขมันพวกนี้มากน้อยแค่ไหน

ไขมันอิ่มตัวนั้น ่ควรกินมากกว่า 10% ของอาหารในแต่ละวัน ในฉลากอาหารมักจะเขียน เปอร์เซ็นต์ของไขมันอิ่มตัว ว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ ให้เราทราบ ไขมันอิ่มตัวพบมากในเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก, เบคอน, นม, เนย, นอกนั้นก็จะพบในมาการีน, กะทิ, น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันปาล์ม ไขมันอิ่มตัวนี้ จะไปแย่งที่ไขมันที่จำเป็นของร่างกาย ทำให้เราเจ็บป่วยได้

ไขมันไม่อิ่มตัว จะมีหลายชนิดที่สำคัญ และเรารู้จักกันดี คือ ไขมันโอเมก้า 3 และ DHA ซึ่งทั้ง 2 นี้ พบมากในน้ำมันปลา (คนละอย่าง กับน้ำมันตับปลา) กรดไขมันโอเมก้า 3 นี้ จะสามารถเปลี่ยนเป็นไขมันรูปอื่น ซึ่งทำหน้าที่คล้ายฮอร์โมน ที่ทำให้เราเกิดความสบาย ป้องกันการบวมน้ำ บรรเทาอาการอักเสบ ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน เสริมภูมิต้านทาน, ลดความดัน ปลาที่มีน้ำมันปลาสูงนั้น จะเป็น ปลาที่คาว, ส่วนที่มีน้ำมันปลามาก คือ ส่วนหัวปลา, พุงปลา, หนังปลา

การปรุงอาหารด้วยการทอดปลา จะเสียน้ำมันปลาไปกับน้ำมันที่ทอดได้ การนึ่ง ต้ม จะดีกว่าการย่าง การกินปลา จะได้โคเลสเตอรอล ไปด้วย ฉะนั้นควรกินปลาอย่างน้อย 1 ขีด ต่อ 1-2 สัปดาห์

นอกเหนือจากอาหารดังกล่าวมาแล้ว อาหารพวกเส้นใย ละลายง่าย เช่น ข้าวโอ๊ต, ถั่วเหลือง, โปรตีนเกษตร, เต้าหู้, ข้าวกล้อง, มะนาว, ส้ม, แครอท พวกนี้จะช่วยลดไขมัเลวได้

ถ้าเราเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงหรือลดอาหารที่มีโทษ ก็จะทำให้สุขภาพดี, ลดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ ลงได้ค่ะ

กินเพื่อสุขภาพ... ดีอย่างยั่งยืน

หลายคนทราบแล้วว่า อาหาร กับ สุขภาพ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก โรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้ร่างกายมีอาการทุรนทุราย หลายอย่างเป็นผลมาจากการรับประทานอาหารด้วยส่วนหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงหันมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น เช่น เลือกรับประทานผักมากกว่าเนื้อสัตว์ เลี่ยงที่จะบริโภคไขมัน แต่บางคนก็ทำจนเกินความพอดี ทำให้ขาดความสุขในการลิ้มรสชาติของอาหาร (แต่ถ้านั่นคือความสุขอย่างหนึ่งก็ไม่ว่ากัน) การรับประทานเพื่อสุขภาพ ไม่จำเป็นต้องอดๆ อยากๆ ปทุมรัตน์ เพียรชอบ ผู้จัดการ Wellness บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านเทคโนโลยีอาหาร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ Food Science จากมิชิแกน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เทรนด์การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพเกิดขึ้นทั่วโลก และมีมากมายหลายแนวคิด และแนวคิดหนึ่งที่เนสท์เล่คิดว่า จะสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับผู้บริโภคชาวไทย ก็คือแนวทาง Balanced Diet & Lifestyle หรือ กินอยู่อย่างสมดุลและวิถีการใช้ชีวิต หมายถึงการสะท้อนข้อคิดในการ บริโภคอาหาร และ การใช้ชีวิต ให้มีความสมดุลซึ่งกันและกัน

ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีหนังสือให้อ่านมากมาย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่า จะมีนิสัยเสาะแสวงหาการอ่านมากน้อยเพียงใดด้วย

อาหารที่สมดุล-พฤติกรรมตัวเอง

แนวคิดในการบริโภคแบบ Balanced Diet & Lifestyle แยกเป็นสองส่วน คือ Balanced Diet หรือ อาหารที่สมดุล หมายถึง ความหลากหลาย ต้องรับประทานอาหารให้มีความหลากหลาย อาหารมีด้วยกัน 5 หมู่ ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ อย่ารับประทานอาหารอย่างเดิมซ้ำๆ กันไม่ยอมเปลี่ยน หรือรับประทานอาหารอยู่ประเภทเดียว

และอาหารทั้ง 5 หมู่นั้น ต้องรับประทานใน สัดส่วนที่พอเหมาะ กับ ไลฟ์สไตล์ นั่นก็คือการพิจารณาสัดส่วนอาหารให้เหมาะกับ วัย เพศ ขนาดของร่างกาย และ พฤติกรรมการใช้ชีวิต

เราควรรู้ว่าตนเองต้องการพลังงานกี่กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งหลักพื้นฐานเบื้องต้นคือ

ผู้หญิง ต้องการพลังงาน 1,600-2,000 กิโลแคลอรี/วัน
เด็ก ต้องการพลังงาน 1,200-1,800 กิโลแคลอรีวัน
ผู้ชาย ต้องการพลังงาน 2,000-2,500 กิโลแคลอรี/วัน
ผู้ใช้แรงงานหนัก (หรือผู้ออกกำลังกาย) ต้องการพลังงานมากกว่า 3,000 กิโลแคลอรี/วัน

และที่ควรรู้มากขึ้นไปอีกคือ ปริมาณอาหารแต่ละประเภทที่บริโภคในแต่ละวัน ให้พลังงานเท่าใด เช่น ข้อมูลที่บอกว่าผักปริมาณ 1 ทัพพี ให้พลังงาน 10 กิโลแคลอรี นั้นมีปริมาณแค่ไหน ข้าวปริมาณ 1 ทัพพีให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี นั้นมีปริมาณแค่ไหน เพราะเมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้วจะได้ทราบว่าเราควรรับประทานอาหารปริมาณเท่าใดในแต่ละวัน

สรุปสั้นๆ ว่า ต้องรับประทานอาหารที่ 'หลากหลาย' และ 'พอเหมาะ'

ผู้บริโภคหลายคนอาจบอกว่า 'ฟังง่าย แต่ทำยาก' แต่คุณปทุมรัตน์ให้กำลังใจว่า ถ้าตั้งใจแล้วจะทำได้ เพราะรู้วิธี เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารกันบ้าง เพื่อสุขภาพที่ดีและยั่งยืนตามแนวทางของ Balanced Diet & Lifestyle ดังนี้

ตอนเช้าทำตัวเหมือนรวย ตอนเย็นทำตัวเหมือนยาจก

ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนเมือง หรือใครก็ตามที่มีวิถีชีวิตการทำงานที่เร่งรีบ และละเลยการบริโภค อาหารเช้า หรือรับประทานอาหารเช้าแต่น้อย เพราะต้องรีบเดินทาง นั่นคือลักษณะหนึ่งของการกินอยู่อย่างไม่สมดุล และทำร้ายสุขภาพตนเองทุกวัน ซึ่งเป็นผลมาจาก ไลฟ์สไตล์ หรือพฤติกรรมนั่นเอง

คุณปทุมรัตน์กล่าวว่า การไม่รับประทานอาหารเช้า มีผลทำให้สมองมีคุณภาพที่ด้อยลง-เสื่อมลงก่อนวัยอันสมควร เนื่องจากเวลาที่ร่างกายคนเรานอนหลับ 10-12 ชั่วโมง สารอาหารจะไม่เหลือเลย ร่างกายจะไม่มีน้ำตาล ให้สมองใช้งานในวันรุ่งขึ้น

วิธีแก้ไขคือ เมื่อทราบเช่นนี้แล้วก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสร้างความสมดุล คือต้องรับประทานอาหารเช้า หัดรับประทานทีละเล็กทีละน้อย ก่อนจะไปทำงานลองถามตัวเองว่า รับประทานอะไรแล้วหรือยัง

เช่นเดียวกับ อาหารเย็น บางคนรับประทานอาหารเย็นจนกระทั่งดึก อยากขอเตือนว่าควรรับประทานเย็นให้ห่างๆ จากเวลาที่จะหลับตานอน ถ้าเป็นไปได้คืออย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะเวลาที่คนเราเข้านอน ระบบประสาทต่างๆ เริ่มพักผ่อน ทำให้กระบวนการย่อยอาหารทำงานไม่เต็มที่ หรือไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อระบบย่อยอาหารไม่ดี จะส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพเช่นกัน เพราะฉะนั้นควรทิ้งช่วงเวลา ในการรับประทานอาหารเย็นกับเวลานอน อย่าให้ตัวเรากินใกล้กับเวลานอนจนเกินไป

เหมือนกับที่นักโภชนาการมักพูดกันว่า ให้เราทำตัวเหมือนคนรวยตอนเช้า รับประทานอาหารให้เยอะๆ รับประทานให้อิ่ม ส่วนตอนเย็นทำตัวเหมือนยาจก รับประทานอาหารแต่พอประมาณ

กว่าสมองจะรู้ว่า 'อิ่ม'

ในการรับประทานอาหาร สมองใช้เวลา 15 นาทีกว่าจะรับรู้ว่าข้อมูลว่าร่างกายอิ่มแล้ว เพราะฉะนั้นอย่ารีบรับประทาน การรีบรับประทาน มีโอกาสทำให้ร่างกายได้ปริมาณอาหาร และพลังงานเกินจำนวนที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เมื่อร่างกายได้พลังงานเกินความต้องการ และเผาผลาญไม่หมด ก็ทำให้เกิดปัญหาความอ้วนตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคร้ายอื่นๆ กับร่างกายนั่นเอง

วิธีแก้ไขคือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน ด้วยการเคี้ยวอาหารให้ช้าลง เมื่อร่างกายอิ่ม คุณอาจสังเกตเห็นว่าอาหารที่เหลือในจาน คือส่วนเกินที่ไม่ควรสั่งในมื้อต่อๆ ไป

เพิ่มความเข้มข้นให้โภชนบัญญัติข้อที่มักละเลย

หลักโภชนาการ 9 ข้อในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี อยู่ในหลักสูตรการศึกษา และคนไทยส่วนใหญ่ทราบอยู่แล้ว ดังนั้น คุณปทุมรัตน์จึงขอเน้นโภชนบัญญัติ ข้อที่คนส่วนใหญ่มัก 'ละเลย' หรือยัง 'ด้อยในการปฏิบัติ' ให้หันมาเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ ซึ่งต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กน้อย เพื่อสร้างความสมดุลในการรับประทานอาหาร (balanced diet) นั่นเอง

โภชนบัญญัติข้อที่ 3: รับประทานพืชผักให้มาก และกินผลไม้เป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 400 กรัม เพื่อให้ร่างกายได้ใยอาหาร ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ลองนึกดูคงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคนส่วนใหญ่ ที่ต้องบริโภคผัก-ผลไม้วันละเกือบครึ่งกิโลกรัม แต่ปัจจุบันมีวิธีที่จะทำให้ร่างกายได้เส้นใยอาหารเพียงพอต่อวัน โดยไม่จำเป็นต้องบริโภคแต่ผัก-ผลไม้ นั่นก็คือการบริโภค ธัญพืชเต็มเมล็ด ซึ่งเป็นทางเลือกและมีแทรกอยู่ในมื้ออาหารหลักๆ ในแต่ละวัน เช่น ข้าวกล้อง ที่มี 'จมูกข้าว' ซึ่งเต็มไปด้วยเส้นใยอาหาร ข้าวโพด ลูกเดือย ก็ถือเป็นธัญพืชเต็มเมล็ด หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปซีเรียลอาหารเช้า ขนมปังโฮลวีต ก็มีส่วนผสมของธัญพืชเต็มเมล็ดมากมาย แม้กระทั่งอาหารจานหลักบางอย่าง ซึ่งคนนิยมรับประทาน ก็มีส่วนผสมของธัญพืชเต็มเมล็ดแล้วเช่นกัน เช่น โซบะโฮลวีต พาสต้าโฮลวีต

โภชนบัญญัติข้อที่ 6: กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร ร่างกายของผู้หญิง ผู้ชาย และคนใช้แรงงาน (หรือออกกำลังกาย) ต้องการพลังงานจากไขมันไม่เกินวันละ 25 กรัม (5 ช้อนชา) 35 กรัม (7 ช้อนชา) และ 45 กรัม (9 ช้อนชา) ตามลำดับ แต่ลองพิจารณาในแต่ละวัน เวลาที่เราสั่งอาหารจานเดียว หรือสั่งผัดผักมาเป็นกับข้าวสักจาน แม่ค้ามักเทน้ำมันลงไปจนเจิ่งนองก้นกระทะ โอกาสที่ร่างกายจะได้รับพลังงานจากไขมัน เกินความจำเป็นในแต่ละวันนั้นมีมาก เมื่อสะสมมากเข้าในแต่ละวัน คนเราจึงอ้วนได้ง่าย ดังนั้นถ้าเลี่ยงได้ ควรเลี่ยงอาหารที่เป็นของทอด อาหารประเภทผัด แกงกะทิ รวมทั้งเลี่ยงการใช้น้ำมันที่ผ่านการทอดแล้ว

ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคไขมันที่ควรรู้เพิ่มเติมคือ ไม่ควรบริโภคน้ำมันที่มี กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) กรดไขมันทรานส์ (Trans Fat) และอาหารที่มี คอเลสเตอรอลสูง (ไขมันจากสัตว์) ซึ่งอาจจะทำให้คอเลสเตอรอลโดยรวม และคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL Cholesterol) มีปริมาณสูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดโรคเบาหวาน

โภชนบัญญัติข้อที่ 7: หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด หวานจัด เค็มจัด หมายถึงลดการบริโภคน้ำตาล-เกลือ ความจริง น้ำตาล ทำให้อาหารอร่อย บางทีก็ทำให้อาหารเหนียวหนืดขึ้น ตามความจำเป็นในการทำอาหารบางประเภท แต่ความหวานจากน้ำตาลเป็น พลังงานที่สูญเปล่า (Empty Calories) เนื่องจากเป็นพลังงานที่ไม่มีเส้นใยอาหาร ไม่มีสารอาหาร ไม่มีวิตามิน-เกลือแร่ให้กับร่างกาย สิ่งที่น้ำตาลให้ได้อย่างเดียวคือเรื่องของ 'ความหวาน' ยิ่งรับประทานน้ำตาลเข้าไปมากเท่าไร ก็ยิ่งไปแย่งโควตาของพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวัน ยิ่งเราเติมน้ำตาลในก๋วยเตี๋ยวหรือเครื่องดื่ม ก็ยิ่งแย่งที่พลังงานของร่างกาย และทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับใยอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

หวานแค่ไหนจึงจะพอดี ขอให้แนวคิดไว้ว่า อาหารว่างหรือขนมไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน หรือดื่มกาแฟ เติมน้ำตาลไปกี่ช้อนแล้ว วันหนึ่งดื่มกาแฟกี่ครั้ง...ให้ระวัง สิ่งที่เราเติมเอง เราควบคุมได้ แต่สิ่งที่เขาเติมมาให้อยู่แล้ว จะควบคุมอย่างไร

อีกเรื่องหนึ่งคือ เกลือ ซึ่งทำให้อาหารมีความเค็ม และแทรกอยู่เต็มไปหมดในน้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรสต่างๆ บะหมี่สำเร็จรูปในซอง ขนมกรุบกรอบ ผักดอง และของขบเคี้ยวจำพวก 'ของดอง' ถ้าจำเป็นต้องใช้เครื่องปรุงรสที่ให้ความเค็ม ควรเลือกผลิตภัณฑ์ให้ความเค็มที่มีคุณภาพ (โซเดียมต่ำ) ไม่จำเป็นต้องเลิกใช้ เพียงแต่ขอให้ลดการบริโภค อาหารที่ปรุงรสเค็มจัด เช่น ชิมอาหารก่อนปรุงรส หรือเหยาะซอสปรุงรสเค็มแต่น้อย เพราะร่างกายต้องการโซเดียมเพียงเล็กน้อย ถ้าบริโภคมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดปัญหาความดันต่ำ

บทสรุป

เราจะไม่ห้ามผู้บริโภคว่า ไม่ควรรับประทานอะไร เพราะบางครั้งอาจทำให้เขารู้สึกต่อต้านตั้งแต่แรก แต่เราจะสอนให้เขารู้จักสร้างความสมดุลให้ร่างกาย เช่น ตอนบ่าย รับประทานเค้กหรือขนมหวานได้ แต่ช่วงเย็นควรเลือกรับประทานอาหารประเภทให้พลังงานน้อย แต่เพิ่มผักและผลไม้ หรือในวันที่รู้ตัวว่าได้แคลอรีเกิน ก็จะต้องออกกำลังกายมากขึ้น คุณปทุมรัตน์กล่าว

Balanced Diet & Lifestyle คือแนวคิดหนึ่งในการบริโภคอาหาร และใช้ชีวิตให้มีความสมดุลซึ่งกันและกัน ด้วยหลัก 4 ประการง่ายๆ คือ กินหลากหลาย-เพิ่มผักผลไม้, ลดหวาน มัน เค็ม, กินเท่าไรใช้ให้หมด และ อ่านเป็นกินเป็น เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

อาหารกับอารมณ์


คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ ที่รู้สึกว่าหลังตื่นนอนตอนเช้า อารมณ์ไม่แจ่มใสอย่างที่ควรเป็น (ไม่นับอาการเบื่อเรียนหรือเบื่องาน) ทั้งๆ ที่นอนหลับเต็มอิ่ม ไม่เครียดหรือมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ บางครั้งรับประทานอาหารเช้าแล้วกลับทำให้ยิ่งหิวเร็ว หนำซ้ำช่วงสายก่อนเที่ยงมีอาการมือสั่น อ่อนเพลีย หรือบ่ายๆ หลังรับประทานอาหารกลางวัน ยิ่งอ่อนเพลีย ง่วงนอน เฉื่อยชายิ่งกว่าเดิม อาการแบบนี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานอาหาร ซึ่งอาหารกับอารมณ์นั้น เกี่ยวข้องกันชนิดที่คุณคาดไม่ถึงทีเดียว

แหล่งต้นเหตุของอาหารที่มีผลต่ออารมณ์

ในต่างประเทศมีงานวิจัยและบทความทางวิชาการศึกษา เกี่ยวกับบทบาทสารอาหารกับอารมณ์อยู่มากมายหลายชิ้น แต่บทความที่ได้รับรองอย่างเป็นทางการยังมีเพียงเล็กน้อย แต่ที่แน่ๆ ปัจจัยในร่างกายที่มีผลต่ออารมณ์ มาจาก 2 แหล่ง คือ อาหารและสารเคมีในสมอง

เริ่มจากอาหาร ที่ปกติเรารับประทาน 3 มื้อต่อวัน แต่ละมื้อประกอบด้วยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต คือ แป้งและน้ำตาลเป็นหลัก เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย หลังจากรับประทานแล้ว ร่างกายจะค่อยๆ ย่อย เปลี่ยนให้เป็นคาร์โบไฮเดรตที่เล็กลง และกลายเป็นน้ำตาลกลูโคส เพื่อร่างกายสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และนำไปใช้ตามอวัยวะต่างๆ ทั้งนี้ปริมาณและชนิดของคาร์โบไฮเดรตที่ต่างกัน ย่อมส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงต่างกัน เช่นเดียวกับระดับน้ำตาลกลูโคสที่ได้จากอาหารแต่ละชนิด หรือที่เราเรียกว่า “ดัชนีน้ำตาล” ค่าดัชนีน้ำตาลแบ่งเป็น 3 ระดับ คืออาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลาง และอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง

การรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงมากเท่าไร

คาร์โบไฮเดรตก็จะย่อยเป็นกลูโคส และถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ที่นำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่างๆ เพื่อ
เผาผลาญเป็นพลังงาน แต่หลังจากรับประทานไปได้ 2-4 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ร่างกาย
อ่อนแรง อารมณ์เซื่องซึม ตัวอย่างอาหารดัชนีน้ำตาลสูง ได้แก่ ไอศกรีม ข้าวขาว ข้าวเหนียว มันฝรั่งบด ฯลฯ นอกจากนี้ระดับน้ำตาลในเลือดอาจแปรปรวน ลดและเพิ่มอย่างรวดเร็วจากกรณีอื่นๆ อีก เช่น


รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารประเภททอด ขนมขบเคี้ยวต่างๆ น้ำอัดลม เป็นต้น เพราะหลังจากรับประทานร่างกายจะรู้สึกหนัก อ่อนเพลียและง่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารเช้าและอาหารกลางวัน ที่คนทำงานหลายคนมีอาการตาหนัก ลืมไม่ขึ้นเป็นประจำ

เว้นระยะเวลาการรับประทานอาหารระหว่างมื้อนานเกินไป หรือออกกำลังกายติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดสัญญาณเตือน เช่น อาการปวดหัวหรือเหนื่อยล้า มือสั่น เหงื่อแตก

ไม่รับประทานอาหารเช้า หรือใช้วิธีลดความอ้วนด้วยการงดอาหารบางมื้อ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายต้องการพลังงานชดเชยมากขึ้นจากมื้อที่หายไป ส่งผลให้มื้อต่อๆ ไปรับประทานมากเกินได้ง่าย ส่วนปัจจัยที่มีผลต่ออารมณ์

ส่วนหนึ่งมาจากสารเคมีในสมอง ยกตัวอย่างเช่น


เซอร์โรโทนิน (serotonin) ถ้าระดับเซอร์โรโทนินต่ำจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ และมีการศึกษาพบว่า หากได้รับอาหารที่ไม่มีกรดอะมิโนทริบโทเฟน (Tryptophan) โดยอาหารที่มีทริบโทเฟน เช่น นม กล้วย โยเกิร์ต ข้าวโอ๊ต ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นในการสังเคราะห์ เซอร์โรโทนินในสมอง จะทำให้การสร้างเซอร์โรโทนินลดลง ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ในบางคน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ข้าวเหนียว ข้าวโพด กรอย เผือกหรือมัน จะเพิ่มการสร้างเซอร์โรโทนินทำให้อารมณ์ดีขึ้น ซึ่งจะพบว่าคนบางคนเมื่อมีอาการซึมเศร้า จะอยากรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น (เศร้าแล้วก็เลยอ้วน)

การขาดกรดโฟลิก จากการศึกษาในหนูทดลอง เมื่อขาดกรดโฟลิก ทำให้ระดับเซอร์โรโทนินในสมองลดลง ซึ่งคาดว่าถ้ามนุษย์ขาดสารโฟลิกก็จะมีอารมณ์ซึมเศร้า ไม่กระตือรือร้น อาหารที่มีกรดโฟลิก ได้แก่ บร็อกโคลี ถั่วลิสง ข้าวซ้อมมือ

การขาดไทอะมิน (วิตามินบี1) ทำให้ซึมเศร้า อ่อนเพลีย เนื่องจากวิตามินบี1 มีบทบาท สำคัญในการเผาผลาญกลูโคสให้เป็นพลังงาน และสมองจำเป็นต้องใช้พลังงานจากกลูโคส ถ้าขาดวิตามินบี1 ก็จะมีผลเหมือนการขาดคาร์โบไฮเดรต อาหารที่มีไทอะมิน ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ปีก

การขาดไนอะซิน ซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง ก็มีผลต่ออารมณ์เช่นกัน คนที่ขาดวิตามินไนอะซินจะหงุดหงิด อารมณ์เสีย ถ้าขาดมากๆ ก็อาจจะถึงขั้นความจำเสื่อม ไนอะซินเป็นวิตามินที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญกลูโคสเช่นกัน การขาดไนอะซินนี้จะพบมากในกลุ่มคนที่รับประทานข้าวโพดเป็นอาหารหลัก ซึ่งในประเทศไทย ยังไม่พบการขาดวิตามินชนิดนี้ อาหารที่มีไนอะซิน ได้แก่ ไข่ เนื้อสัตว์ปีก ปลา ธัญพืชที่ไม่ขัดสี นม

รับประทานอาหารอย่างไรจึงทำให้อารมณ์ดีขึ้น

การปรับเปลี่ยนประเภทของอาหารเพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งผลให้อารมณ์ดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพียงแค่คุณ...


รับประทานอาหารให้ครบมื้อ ถ้าไม่มีเวลารับประทานอาหารเป็นมื้อแบบกิจลักษณะ ควรเลือกของว่างเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนมปังโฮลวีทสักแผ่นหรือ ขนมปังกรอบธัญพืชสัก 2-3 แผ่น อย่าปล่อยให้ท้องว่างเด็ดขาด หรือว่าจะแบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ แต่รับประทานบ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดตก

รับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ผักและผลไม้ที่มีเส้นใยมาก และมีรสไม่หวาน เป็นต้น เพราะร่างกายจะค่อยๆ ย่อยและดูดซึมช้าๆ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ สม่ำเสมอ และหลังรับประทานอาหารได้ 4-6 ชั่วโมง ร่างกายจะหลั่งสารฮอร์โมนบางชนิดเพื่อสลายไกลโคเจน ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่สะสมอยู่ในร่างกาย และเพิ่มการสร้างกลูโคสจากแหล่งอาหารอื่น เช่น ไขมัน

งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน หันมาดื่มน้ำผลไม้คั้นสดหรือน้ำเปล่าธรรมดาแทน

หมั่นออกกำลังกาย เนื่องจากหลังออกกำลังกายต่อเนื่องสัก 20 นาที ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแอนโดรฟีนออกมาตามธรรมชาติ ทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้ปกระเปร่าและมีความสุข ลดความกังวลและเครียดลงได้
สรุปแล้วความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและอารมณ์นี้ ยังมีความซับซ้อนอยู่มาก จำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อหาข้อสรุปต่อไป แต่ปราการป้องกันขั้นพื้นฐานไม่ให้อารมณ์หม่นหมอง ง่วงซึม ทุกครั้งที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร ก็ควรรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ครบมื้อพอเพียงกับความต้องการของร่างกาย รับประทานอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและมีค่าดัชนีน้ำตาลสูง ประกอบกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับรองว่าอาการเซื่องซึม ง่วงนอน อ่อนเพลียจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด